Last updated: 30 ม.ค. 2566 | 199 จำนวนผู้เข้าชม |
อาการของโรค IT Band Syndrome
จะมีอาการปวดบริเวณเหนือหัวเข่าด้านนอกขณะวิ่งหรือออกกำลังกายและอาการปวดอาจรุนแรงขึ้นเมื่อเกิดแรงกดบริเวณส้นเท้า ในระยะแรกอาการปวดอาจจะหายไปเองเมื่อขยับร่างกายอย่างต่อเนื่อง แต่ระยะหลังอาการอาจจะรุนแรงขึ้นได้เมื่อมีการขยับหัวเข่าต่อเนื่อง เช่น การเดิน การวิ่ง การปั่นจักรยานเป็นต้น โดยทั่วไปแล้วอาการในข้างต้นมักไม่รุนแรง หรือส่งผลอันตรายมากนัก แต่หากอาการปวดไม่ทุเลา และเริ่มส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ควรเข้ารับการตรวจโดยแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างเหมาะสม
สาเหตุของโรค IT band syndrome
ส่วนใหญ่แล้ว อาการของโรค IT Band มักเกิดจากการเคลื่อนไหวหัวเข่าซ้ำๆ การเสียดสีของเอ็นต้นขาด้านข้าง (lliotibial band) กับกระดูกต้นขาส่วนปลายด้านข้าง (lateral femoral epicondyle) ในระหว่างการเหยียดงอของข้อเข่า โดยปัจจัยต่อไปนี้อาจทำให้เกิด IT Band Syndrome ได้มากขึ้น คือ
1.การออกกำลังกายบางประเภท เช่น การวิ่ง การปั่นจักรยาน บาสเกตบอล ฟุตบอล และการยกน้ำหนัก เป็นต้น
2.การออกกำลังกายอย่างไม่เหมาะสม เช่น ออกกำลังกายหนักและต่อเนื่องเกินไป ออกกำลังกายโดยไม่อบอุ่นร่างกาย ออกกำลังกายผิดท่า การวางเท้าผิดตำแหน่งขณะปั่นจักรยาน การวิ่งบนพื้นผิวที่ไม่เอื้ออำนวย เป็นต้น
3.การใช้ชีวิตประจำวัน การเดินและการเดินขึ้นลงบันไดเป็นประจำ การสวมรองเท้าส้นสูง การนั่งท่าเดิมติดต่อกันนาน ลักษณะการเดินที่ผิดวิธี อย่างการเดินหุบปลายเท้ามากเกินไป
4.ข้อจำกัดด้านร่างกาย เช่น ความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต่ำ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อขา หน้าท้อง และสะโพก การบาดเจ็บบริเวณหัวเข่า เป็นต้น
การรักษาโรค IT Band Syndrome
อาการ IT Band Syndrome อาจบรรเทาเบื้องต้นได้ด้วยการดูแลตนเองดังนี้
-พักการใช้งานหัวเข่าและขา เช่น หยุดออกกำลังกายสักระยะเพื่อให้ร่างกายฟื้นฟู ในระหว่างนั่งพักควรยกขาและหัวเข่าให้สูงกว่าระดับหัวใจ
-ประคบเย็น โดยใช้ผ้าชุบน้ำเย็นบิดหมาด หรือเจลแช่เย็น ประคบลงบริเวณหัวเข่าด้านนอกที่มีอาการปวด 10–15 นาที ทุก 2 ชั่วโมง เพื่อลดการไหลเวียนของเลือดและบรรเทาอาการปวดบวมอักเสบ
-ค่อย ๆ นวดหรือยืดกล้ามเนื้อบริเวณสะโพก ขา และหัวเข่าเพื่อให้เนื้อเยื่อคลายตัว ด้วยการนอนตะแคงให้ขาทั้ง 2 ข้างซ้อนกันและเหยียดตรง ใช้มือหนุนศีรษะ และยกขาข้างที่อยู่ด้านบนขึ้นช้า ๆ จนสุด ค้างไว้ 2–5 วินาทีแล้วกลับมาท่าเดิม ทำซ้ำข้างละ 15 ครั้ง ทั้งหมด 3 รอบ
-ใช้ยาแก้ปวดตามร้านขายยา อย่างยาพาราเตามอล ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) และยานาพรอกเซน (Naproxen) โดยควรแจ้งเภสัชกรที่ร้านขายยาเกี่ยวกับอาการปวด โรคประจำตัว ยาที่ใช้ อายุ น้ำหนัก และสถานะการตั้งครรภ์ก่อนเสมอ
หากทำตามวิธีเหล่านี้แล้วอาการไม่ดีขึ้นหรืออาการรุนแรงขึ้น ควรไปพบแพทย์ โดยภายหลังแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าผู้ป่วยมีอาการของ IT Band Syndrome นอกจากการดูแลตนเองในข้างต้นแล้ว แพทย์อาจส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจากนักกายภาพบำบัด ซึ่งอาจแนะนำการรักษาต่อไปนี้ให้กับผู้ป่วย
-การนวดบำบัดและการใช้ คลื่นอัลตร้าซาวด์ เพื่อนวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อที่อยู่ลึกลงไป
-การฉีดยากลุ่มสเตียรอยด์เพื่อต้านการอักเสบของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน IT Band
-การผ่าตัดเป็นการรักษา IT Band Syndrome ที่พบได้น้อยมาก แต่แพทย์อาจใช้ในกรณีที่เกิดการอักเสบเรื้อรังหรือเมื่อผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่น
5 ก.ค. 2566
19 ม.ค. 2566